:: ข้อมูลทั่วไป ::
อุทยานแห่งชาติภูซาง มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ดินบริเวณป่าน้ำหงาวฝั่งซ้าย ในท้องที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ป่าน้ำเปี๋อยและป่าน้ำหย่วน และป่าน้ำลาว ในท้องที่อำเภอเชียงคำ กิ่งอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขา มีความอุดมสมบูรณ์ประกอบด้วย ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า สัตว์นานาชนิด ตลอดจนทิวทัศน์ป่า และภูเขาที่สวยงาม มีเนื้อที่ประมาณ 178,049.62 ไร่ หรือ 284.88 ตารางกิโลเมตร ความเป็นมา: เดิมจัดตั้งเป็นวนอุทยานแห่งชาติภูซาง อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำเปื๋อย ป่าน้ำหย่วน และป่าน้ำลาว (กฎกระทรวงฉบับที่ 966 พ.ศ. 2541 ) ในท้องที่ตำบลภูซาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งกรมป่าไม้จัดตั้งเป็นวนอุทยาน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2533 เนื่องจากสำนักงานป่าไม้เขตเชียงราย สำรวจเสนอ และกองบัญชาการหน่วยรบเฉพาะกิจ กองพลที่ 4 สนับสนุนให้จัดตั้งเป็นวนอุทยาน ตามหนังสือที่ กส 0809 (ชร) /1975 ลงวันที่ 5 เมษายน 2522 และ กห 0334 (ฉก.พล.) /1819 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2531 กองทัพภาคที่ 3 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 มีหนังสือที่ นร 5106/2616 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532 ให้กรมป่าไม้จัดตั้งพื้นที่วนอุทยานน้ำตกภูซาง มีเนื้อที่ประมาณ 73,000 ไร่ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2534 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2534 ทำการสำรวจ และเตรียมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 1316/2534 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2534 สั่งการให้ นายจุมพล วนธารกุล นักวิชาการป่าไม้ 5 ไปดำเนินการสำรวจจัดตั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ผลการ สำรวจพบว่า พื้นที่ที่มีความเหมาะสมจะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำเปื๋อย ป่าน้ำหย่วน และป่าน้ำลาว ท้องที่ตำบลภูซาง ตำบลทุ่งกล้วย ตำบลร่มเย็น ตำบลเวียง ตำบลแม่ลาว ตำบลฝายกวาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ป่าน้ำหงาวฝั่งซ้าย ในท้องที่ตำบลตับเต่า ตำบลหงาว อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย มีเนื้อที่ประมาณ 186,512 ไร่ ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง 440-1,548 เมตร ติดเขตแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร สภาพป่าเป็นป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขา มีสัตว์ป่าหลายชนิด เจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้แจ้งว่าตามมติที่ประชุมรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2536 ให้ ททท. ประสานงานกับกรมป่าไม้ เพื่อพิจารณาพื้นที่ที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติใหม่ กรมป่าไม้จึงมีหนังสือ กษ 0721.03/7244 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2537 เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นอุทยานแห่งชาติภูซาง สำนักงานเลขาคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือที่ นร 0204/11694 ลงวันที่ 15 กันยายน 2543 แจ้งว่า คณะรัฐมนตรีได้มติเห็นชอบร่างดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2543 ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าน้ำหงาวฝั่งซ้าย ในท้องที่ตำบลตับเต่า ตำบลหงาว อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย และป่าน้ำเปื๋อย ป่าน้ำ หย่วนและป่าน้ำลาว ในท้องที่ตำบลภูซาง ตำบลทุ่งกล้วย กิ่งอำเภอภูซาง อำเภอเชียงคำ และตำบลร่มเย็น ตำบลแม่ลาว อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 117 ตอนที่ 98 ก วันที่ 2 พฤศจิกายน 2543 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 98 ของประเทศไทย
:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
เป็นเทือกเขาติดชายแดนกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวยาวประมาณ 30 กิโลเมตร มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 440 - 1,548 เมตร โดยมียอดดอยผาหม่นเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำลาว น้ำหงาว น้ำเปื๋อย น้ำบง น้ำญวน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมของอำเภอเชียงคำ
:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
อุทยานแห่งชาติภูซาง จะมีฤดูกาล 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
สภาพป่าโดยทั่วไปประกอบด้วย ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าสนเขา ป่าดิบเขา พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ยางนา ยางขาว ยางแดง ตะเคียน ตุ้มเต๋น มะไฟ ยมหอม จำปีป่า จำปาป่า กระบาก ตะแบก มะหาด ประดู่ แดง สัก เสลา ส้าน มะค่าโมง ตะคร้อ สมอพิเภก กระบก ก่อ มะม่วงป่า รวมทั้งไผ่ กล้วยป่า หวาย และเฟิน เป็นต้น สัตว์ป่ามีเลียงผา กวางป่า เก้ง ลิง หมูป่า กระจง ค่าง ชะนี กระต่าย แมวป่า เม่น อีเห็น ชะมด กระรอก หมาไน เต่าปูลู และนกชนิดต่างๆ
:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติภูซางต.ภูซาง อ. กิ่งอำเภอภูซาง จ. พะเยา 56110โทรศัพท์ : 0 5440 1099
รถยนต์
จากตัวเมืองพะเยา ไปตามถนนสายพะเยา-อำเภอจุน-อำเภอเชียงคำ-น้ำตกภูซาง รวมระยะทาง 104 กิโลเมตรจากตัวเมืองเชียงราย ไปตามถนนสายเชียงราย-อำเภอเทิง-อำเภอเชียงคำ-น้ำตกภูซาง รวมระยะทาง 124 กม.
:: แหล่งท่องเที่ยว ::
อุทยานแห่งชาติภูซาง มีพื้นที่ครอบคลุมในท้องที่อำเภอเชียงคำ กิ่งอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขา มีความอุดมสมบูรณ์ประกอบด้วย ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า สัตว์นานาชนิด ตลอดจนทิวทัศน์ป่า และภูเขาที่สวยงาม มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่
:: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
ถ้ำผาแดง เป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีความลึกประมาณ 450 เมตร ภายในมีหินงอกหินย้อยสวยงามแปลกตา ถ้ำผาแดงอยู่บนภูเขาหินปูนซึ่งยังมีถ้ำอีกหลายแห่ง การเดินทางจากอำเภอเชียงคำใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1210 จนถึงพระธาตุดอยคำ แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปเป็นระยะทาง 14 กิโลเมตร จะถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ภซ.1 (ผาแดง)
ดอยผาดำ ดอยผาดำ เป็นภูเขาหินปูน มีหน้าผาขนาดใหญ่สวยงาม
ถ้ำน้ำดั้น ตั้งอยู่ในหุบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร เป็นถ้ำหินปูนขนาดกลาง ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยที่สวยงามมาก ลักษณะเด่นของถ้ำน้ำดั้นคือ บริเวณปากถ้ำจะมีลำธารขนาดใหญ่ (ลำห้วยน้ำดั้น) ไหลหายลงไปในถ้ำ อดีตเคยเป็นที่หลบซ่อนของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
บ่อน้ำซับอุ่น เป็นบ่อน้ำซับแหล่งต้นน้ำของน้ำของน้ำตกภูซาง อุณหภูมิประมาณ 35oC ขณะที่อุณหภูมิอากาศ 10 oC เป็นบริเวณที่ธารน้ำอุ่นผุดขึ้นจากใต้พื้นดิน และมีสภาพเป็นพรุน้ำจืดที่เต็มไปด้วยพรรณไม้แปลกตาซึ่งหาชมได้ยาก
น้ำตกภูซาง เป็นน้ำตกที่มีน้ำอุ่นเพียงแห่งเดียวที่พบในประเทศไทย อุณหภูมิสูงถึง 35 -36oC น้ำตกตั้งอยู่บนเทือกเขาดอยผาหม่น เกิดจากสายน้ำอุ่นและปราศจากกลิ่นกำมะถันที่ไหลมาจากผาหินปูนสูง 25 เมตร ใต้น้ำตกเป็นแอ่งน้ำสีเขียวมรกตที่ใสราวกับกระจก จึงเหมาะสำหรับการลงแช่น้ำให้อบอุ่น สบายตัว เหนือน้ำตกภูซางมีเส้นทางชมป่าต้นน้ำซึ่งเป็นป่าดงดิบ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 1 กิโลเมตร
น้ำตกห้วยโป่งผา อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาดอยผาหม่น และเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำเปื๋อย มีน้ำไหลตลอดปี น้ำตกมีทั้งหมด 19 ชั้น และมีลำห้วยแยกออกมาเป็นน้ำตกอีก 2 สาย แต่ละชั้นของน้ำตกมีความสวยงามแตกต่างกันออกไป ระยะทางจากชั้นแรกถึงชั้นบนสุดประมาณ 1,500 เมตร ใช้เวลาในการเดินชมน้ำตกตลอดสายประมาณ 3 ชั่วโมง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700 -900 เมตร น้ำตกห้วยโป่งผายังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเต่าปูลู ซึ่งเป็นสัตว์ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย
ถ้ำน้ำลอด อยู่ห่างจากถ้ำผาแดงประมาณ 10 เมตร เป็นถ้ำขนาดเล็กที่มีธารน้ำไหล ความลึกของถ้ำประมาณ 250 เมตรและมีระดับน้ำลึกประมาณ 0.5-1 เมตร
:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายไว้บริการ
ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงไว้บริการ
ที่พักแรม/บ้านพัก อุทยานแห่งชาติได้จัดเตรียมบ้านพักไว้ให้บริการในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด และสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
บริการอาหาร อุทยานฯ มีร้านอาหารไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยว
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เพื่อศึกษาหาข้อมูลเบื้องต้นก่อนไปท่องเที่ยว ในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น