อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ



:: ข้อมูลทั่วไป ::
อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอชาติตระการและอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก สภาพทั่วไปเป็นป่าอุดมสมบูรณ์และธรรมชาติที่สวยงาม เป็นต้นว่า น้ำตกชาติตระการ หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “น้ำตกปากรอง” เพราะตั้งอยู่ที่หมู่บ้านปากรอง หน้าผาสูงชันที่มีสีสันผิดแปลกกัน เป็นร่องรอยของศิลปยุคแรกของมนุษย์ คือ รอยแกะสลักกับแผ่นดินและจุดชมวิวทิวทัศน์บนยอดเขาสูงๆ มีเนื้อที่ประมาณ 339,375 ไร่ หรือ 543 ตารางกิโลเมตร ความเป็นมา: ด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในท้องที่ตำบลนครไทย ตำบลน้ำกุ่ม อำเภอชาติตระการ และอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ได้เสนอผ่านนายประเทือง วิจารย์ปรีชา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพิษณุโลก ขอให้กรมป่าไม้เข้าไปจัดการพื้นที่บริเวณป่าเขาย่าปุก ซึ่งมีน้ำตกสวยงามเป็นวนอุทยาน เพื่อสงวนทรัพยากรป่าไม้และป่าต้นน้ำของลำแควน้อย ในปี พ.ศ. 2523 กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้เริ่มดำเนินการจัดสำรวจและจัดตั้งวนอุทยานขึ้นโดยใช้ชื่อว่า “วนอุทยานเขาย่าปุก” ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2525 จึงได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ “วนอุทยานน้ำตกชาติตระการ” ตามชื่ออำเภอชาติตระการต่อมากรมป่าไม้ได้มีหนังสือ ที่ กษ 0706/10459 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2525 แต่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลก กองอุทยานแห่งชาติ และ กองจัดการป่าไม้ทำการสำรวจพื้นที่ดังกล่าว เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ผลการสำรวจคณะทำงาน โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลก และกองจัดการป่าไม้ เห็นควรกำหนดบริเวณน้ำตกชาติตระการ และพื้นที่ป่าเขาย่าปุก เนื้อที่ประมาณ 253 ตารางกิโลเมตร หรือ 146,875 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่วนอุทยานน้ำตกชาติตระการ (นายภูมิ สมวัฒนศักดิ์ ช่างโยธา 3) เห็นควรกำหนดพื้นที่ที่ได้ทำการสำรวจทั้งหมด เนื้อที่ประมาณ 1,274 ตารางกิโลเมตร หรือ 764,250 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อคณะทำงานทำการสำรวจพื้นที่ฯได้พิจารณาขอบเขตถึงความเหมาะสม โดยได้พิจารณาถึงการจัดการอุทยานแห่งชาติ และการอนุรักษ์ป่าไม้ และต้นน้ำลำธาร จึงเห็นควรกำหนดพื้นที่ ที่ทำการสำรวจประมาณครึ่งหนึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้ดำเนินการสำรวจเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2528 คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2528 เห็นชอบในหลักการที่จะกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ให้คำนึงถึงความเป็นไปได้การจัดการอุทยานแห่งชาติ และการอนุรักษ์ป่าไม้ในส่วนดังกล่าวด้วย กองอุทยานแห่งชาติ จึงกำหนดพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน คลอบคลุมพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารของลำน้ำแคว ลำน้ำภาค ทั้งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพเหมาะสม ต่อการจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาหาความรู้ ค้นคว้าวิจัย เนื้อที่ 339,375 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าน้ำภาค ป่าลำน้ำแควน้อยฝั่งซ้ายป่าแดง และป่าชาติตระการ ในท้องที่ตำบลชาติตระการ และตำบลน้ำกุ่ม ตำบลนครชุม ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 104 ตอนที่ 220 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2530 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 55 ของประเทศ
:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นเทือกเขาและภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำภาค แม่น้ำแควน้อย ภูเขาหินทรายโดยเฉพาะหน้าผาบริเวณ น้ำตก เพราะเกิดจากการเรียงตัวของชั้นหิน ประเภทหินทราย ที่ทับถมกันมาเป็นเวลานาน ดินเป็นดินทรายเพราะต้นกำเนิดของดินบริเวณนี้คือ หินทราย
:: ลักษณะภูมิอากาศ ::
โดยทั่วไปอากาศเย็นสบายดี ฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม อุณหภูมิประมาณ 25-29 องศาเซลเซียส ฤดูฝนระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม และฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์อากาศจะหนาวมากในเวลากลางคืน
:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
สภาพป่าประกอบด้วย ป่าเต็งรัง อยู่ในบริเวณสภาพดินค่อนข้างต่ำ เป็นดินลูกรัง พรรณไม้ที่พบได้แก่ เต็ง รัง เหียง แดง ประดู่ พะยอม เป็นต้น และป่าดิบเขา ขึ้นอยู่ในบริเวณริม ลำธารและพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้นสูง ดินมีความอุดมสมบูรณ์ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ไม้ยาง กระบาก ก่อ มะม่วงป่า มะค่าโมง ตะแบก เป็นต้น ไม้พื้นล่าง ได้แก่ ปาล์ม หวาย และไผ่ต่าง ๆ สัตว์ป่าส่วนใหญ่ จะเข้าไปอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยง - ภูทอง ซึ่งอยู่ใกล้กัน สัตว์ป่าที่พบส่วนใหญ่ จะเป็นสัตว์ขนาดเล็ก ได้แก่ เก้ง หมูป่า ไก่ป่า กระจง กระรอก กระแต และนกชนิดต่างๆ
:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการหมู่ 3 บ้านปากรอง ต.ชาติตระการ อ. ชาติตระการ จ. พิษณุโลก 65170โทรศัพท์ : 0 5523 7028 โทรสาร : 0 5523 7028

รถยนต์
- จากจังหวัดพิษณุโลกไปได้ 2 เส้นทางคือ ไปตามเส้นทางหลวงพิษณุโลก-หล่มสัก เลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอนครไทย และจากอำเภอนครไทย เดินทางสู่ อำเภอชาติตระการ ก่อนถึงอำเภอชาติตระการ 1 กิโลเมตร มีทางแยกเลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตร และเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางของอุทยานฯ อีก 1 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 145 กิโลเมตร- เส้นทางสายพิษณุโลก - วัดโบสถ์ จากอำเภอวัดโบสถ์เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางสายวัดโบสถ์ - คันโซ้ง - โป่งแค่ จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าอำเภอชาติตระการ และเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางเข้าอุทยานแห่งชาติ รวมระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร

รถโดยสารประจำทาง
มีรถโดยสารประจำทางจากจังหวัดพิษณุโลก ถึงอำเภอชาติตระการ ทุก 2 ชั่วโมง ตั้งแต่ 05.00 น. ถึง 17.00 น. จากอำเภอชาติตระการโดยสารรถเมล์เล็กสายชาติตระการ - บ่อภาค - ร่มเกล้า ประมาณ 9 กิโลเมตร จากนั้น เดินเท้าเข้าสู่อุทยานแห่งชาติอีกประมาณ 1 กิโลเมตร หรือจากอำเภอชาติตระการ โดยสารมอเตอร์ไซด์รับจ้า งเข้าสู่อุทยานแห่งชาติโดยตรง
:: แหล่งท่องเที่ยว :: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
น้ำตกชาติตระการ เป็นน้ำตกที่มีอยู่ถึง 7 ชั้น แต่ละชั้นมีความสวยงามตามธรรมชาติที่แตกต่างกันออกไป มีชื่อเรียกตามชั้นต่าง ๆ ดังนี้ ชั้นที่ 1 ชื่อ “มะลิวัลย์” เป็นน้ำตกที่ตกจากช่องผาสูงประมาณ 30 เมตร น้ำตกจะตกลงสู่ธารน้ำซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นแอ่งวงกลมเหมาะสำหรับลงเล่นน้ำ บริเวณริมแอ่งน้ำ เป็นหาดทรายเล็กๆ สวยงามมาก ชั้นที่ 2 ชื่อ “กรรณิการ์” ลักษณะของน้ำตกจะลดหลั่นลงมาตามโขดหินเป็นชั้นๆ ดูสวยงาม แต่ไม่เหมาะต่อการลงเล่นน้ำ เพราะน้ำจะไหลวนลงสู่ชั้นที่ 1 ชั้นที่ 3 ชื่อ “การะเกด” มีความสวยงามพอสมควร น้ำตกชั้นที่ 4 ชื่อ “ยี่สุ่นเทศ” น้ำไหลเป็นสายกว้างลงสู่แอ่งน้ำน่าลงเล่นน้ำ น้ำตกชั้นที่ 5 ชื่อ “เกศเมือง” ชั้นที่ 6 ชื่อ “เรืองยศ” และชั้นที่ 7 ชื่อ “รจนา” ทั้ง 3 ชั้น เป็นน้ำตกเล็กๆ หน้าผาบริเวณน้ำตก มีสภาพธรรมชาติที่สวยงามมีสีสรรต่างๆ บริเวณหน้าผาน้ำตกชั้นที่ 1 ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน จะมีฝูงผึ้งบินมาทำรังเป็นจำนวนมากเป็นสิ่งที่แปลกตามธรรมชาติ
น้ำตกนาจาน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางบ้านนาจาน 3 กิโลเมตร จากบ้านนาจานเดินเท้าอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ลักษณะเป็นน้ำตกขนาดกลางมีทั้งหมด 7 ชั้น เริ่มจากชั้นที่ 1 จะมีลักษณะไหลเอื่อยๆ ไม่สูงนัก ชั้นนี้จะมีหินมากและลื่น ชั้นที่ 2 จะมีลักษณะที่สวยงามมาก สูงประมาณ 7-10 เมตร ทางลงเป็นดินค่อนข้างลื่น ชั้นที่ 4 มีความสวยงามเป็นพิเศษ น้ำตกไหลลงมาพร้อมกันที่เดียว 3 สาย สูงประมาณ 20 เมตร และกว้างประมาณ 50 เมตร น้ำตกนาจานชั้นที่ 1-4 อยู่ห่างกันไม่มากนัก ชั้นที่ 4-5 อยู่ห่างกันประมาณ 200 เมตร ชั้นที่ 5-6 ห่างกันประมาณ 100 เมตร ชั้นที่ 6-7 ห่างกันประมาณ 30 เมตร สภาพเส้นทางจะมีความลาดชันปานกลาง หากนักท่องเที่ยวประสงค์จะเที่ยวชม ควรติดต่อเจ้าหน้าที่ ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติเพื่อนำเที่ยว
น้ำตกผาคุคา หรือน้ำตกนาหิน อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ชก.4 (น้ำกุ่ม) ประมาณ 4 กิโลเมตร ต้องเดินเท้าจากวัดชัยวราราม (วัดนาหิน) เป็นระยะทางประมาณ 1,500 เมตร เป็นน้ำตกชั้นเดียวที่ตกจากหน้าผาสูง 50 เมตร ลงมายังแอ่งน้ำ แล้วไหลลอดผ่านช่องหินมาเป็นลำธารเบื้องล่าง ลักษณะคล้ายห้องขนาดใหญ่ มีน้ำไหลตลอดปี ในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำไหลสองสายมีความสวยงามอย่างยิ่ง สำหรับในช่วงฤดูแล้ง จะมีน้ำไหลเพียงสายเดียว แต่ก็มีความสวยงามไม่แพ้กัน สภาพป่าทั่วไปเป็นป่าเบญจพรรณ ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์
เขาช้างล้วง มีสัณฐานคล้ายลูกช้างหมอบ เป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ที่มีตำนานเล่าขานสืบทอดกันมาว่า เป็นสถานที่ปักธงแห่งพ่อขุนบางกลางท่าวหรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เจ้าเมืองบางยาง ก่อนและหลังทำศึกสงครามประเพณีปักธงชัยเป็นประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญของชาวอำเภอนครไทย ที่จัดขึ้นระหว่างวันขึ้น 14-15 ค่ำ เดือน 12 จากที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ชก.2 (เขาช้างล้วง) ขึ้นไปประมาณ 4 กิโลเมตร จะถึงเขาฉันเพลซึ่งเป็นหินก้อนใหญ่สูงประมาณ 15 เมตร สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของอำเภอนครไทยได้โดยรอบ เมื่อเดินทางต่อไปอีกประมาณ 400 เมตร จะถึงเขายั่นไฮ มีลักษณะเป็นหน้าผาตระหง่านสูงประมาณ 15 เมตร และมีบันไดขึ้นสู่ยอดเขาเพื่อดูทิวทัศน์ของอำเภอนครไทย และเป็นสถานที่ปักธงชัยอีกแห่งหนึ่ง จากจุดนี้สามารถมองเห็นยอดเขาช้างล้วง จากนั้นเดินทางต่อ จากเขายั่นไฮไปอีกประมาณ 100 เมตร จะถึงยอดเขาช้างล้วงซึ่งสูงประมาณ 15 เมตร เป็นสถานที่ที่ชาวอำเภอนครไทย นำธงขึ้นไปปัก และเป็นเทือกเขาที่สวยงามแปลกตาเป็นอย่างมาก สภาพป่าทั่วไปเป็นป่าเต็งรัง
ผาแดง เป็นหน้าผาชัน ลักษณะเป็นหินทรายสีแดงสวยสดงดงามตามธรรมชาติ ตั้งอยู่ถัดจากน้ำตกชาติตระการ ชั้นที่ 4 ไปทางขวามือประมาณ 450 เมตร บริเวณผาแดงจะเป็นจุดชมทิวทัศน์ สามารถมองลงมาเบื้องล่างได้ซึ่งจะเห็นสภาพป่าสมบูรณ์ และภาพบ้านเรือนของอำเภอชาติตระการ การประกอบอาชีพเกษตร ปลูกข้าว ทำนา เขียวสะพรั่ง
:: ด้านประวัติศาสตร์ ::
ผากระดานเลข เป็นแหล่งที่พบหลักฐานทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ว่า มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นภาพการแกะสลักของมนุษย์ยุคหินโบราณ เป็นรูปทรงเรขาคณิต โดยเทคนิคการตอกสลักผสมการฝน (Pecking and abrading technique) บนหินทรายสีเทา ซึ่งนักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่า ตัวอักษรเหล่านี้เป็นการสื่อของมนุษย์ยุคหินโบราณ และครั้งหนึ่ง ณ พื้นที่แห่งนี้เคยมีมนุษย์ยุคหินอาศัยอยู่ เขากระดานเลขอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 3 กิโลเมตร
รอยตีนสัตว์ รอยตีนสัตว์อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตก ชาติตระการประมาณ 500 เมตร จากการสำรวจและพิสูจน์ของ ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น รวมกับกรมทรัพยากรธรณีและจุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบื้องต้นแจ้งว่าเป็นรอยตีนของนกโบราณในยุคไดโนเสาร์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์ในห้องปฏิบัติการ
:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
ห้องสุขาชาย มีห้องสุขาชายไว้บริการ
ห้องสุขาหญิง มีห้องสุขาหญิงไว้บริการ
ที่พักแรม/บ้านพัก อุทยานฯ มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว
สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์ และเต็นท์ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียด และสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
ที่จอดรถ มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
บริการอาหาร อุทยานฯ มีร้านอาหารไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยว
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.





0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น