อุทยานแห่งชาติแก่งเจ็ดแคว



:: ข้อมูลทั่วไป ::
อุทยานแห่งชาติแก่งเจ็ดแคว ครอบคลุมพื้นที่วนอุทยานแก่งเจ็ดแคว และวนอุทยานภูแดงร้อน โดยมีน้ำตกสวยงามที่เกิดขึ้นตามลำน้ำแควน้อย เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ มีพื้นที่ประมาณ 163,125 ไร่ หรือ 261 ตารางกิโลเมตร ในท้องที่อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอชาติตระการ อำเภอนครไทย และอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลกความเป็นมา: เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่บริเวณป่าต่างๆ กำลังถูกบุกรุกทำลายและยึดถือครอบครองเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดการขาดความสมดุลทางธรรมชาติเป็นผลให้เกิดภัยแล้งฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เพื่อเป็นการขจัดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและยึดถือครอบครองแผ้วถางพื้นที่ป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ให้หมดไป และเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะรักษาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้เพิ่มมากขึ้น กรมป่าไม้ได้รับรายงานจากสำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลกว่า พื้นที่วนอุทยานแก่งเจ็ดแควและพื้นที่วนอุทยานภูแดงร้อนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม และป่าบริเวณข้างเคียงยังมีสภาพสมบูรณ์มีความเหมาะสมที่จะกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงมีคำสั่งที่ 911/2537 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2537 ให้ นายจงคล้าย วรพงศธร นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปสำรวจเพิ่มเติมและจัดตั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสองฝั่งลำน้ำแควน้อยและป่าสวนเมี่ยง จังหวัดพิษณุโลก และพื้นที่ป่าบริเวณใกล้เคียงเป็นอุทยานแห่งชาติโดยได้รับรายงานว่า พื้นที่ที่มีความเหมาะสม ที่จะกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติครอบคลุมพื้นที่วนอุทยานแก่งเจ็ดแคว ป่าสงวนแห่งชาติป่าสองฝั่งลำน้ำแควน้อย (กฎกระทรวงฉบับที่ 704 พ.ศ. 2517) ในท้องที่ตำบลบ้านยาง ตำบลคันโช้ง อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ป่าสงวนแห่งชาติป่าสวนเมี่ยง (กฎกระทรวง ฉบับที่ 1,158 พ.ศ. 2529) ท้องที่ตำบลสวนเมี่ยง อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขากระยาง (กฎกระทรวง ฉบับที่ 977 พ.ศ. 2525) ในท้องที่ตำบลหนองกระยาง ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย ตำบลบ้านกลาง ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก พื้นที่ประมาณ 163,125 ไร่ หรือ 261 ตารางกิโลเมตร โดยไม่มีปัญหาการบุกรุกพื้นที่ เนื่องจากได้กันเขตหมู่บ้านและที่ทำกินของราษฎรรวมทั้งพื้นที่ สทก. สปก. ออกจากเขตที่จะ กำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติแล้ว มีอาณาเขตทิศเหนือจดกับเขาอุโมง ทิศใต้จดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ทิศตะวันออกจดกับบ้านโป่งปะ ทิศตะวันตกจดกับบ้านหนองกะบาก
:: ลักษณะภูมิประเทศ ::
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขายาวสลับซับซ้อน มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์
:: พรรณไม้และสัตว์ป่า ::
สภาพป่าโดยทั่วไปประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง หนาแน่นด้วยพรรณไม้ที่สำคัญและมีค่าทางเศรษฐกิจนานาชนิด เช่น สัก มะค่าโมง แดง ประดู่ ตะเคียน ยาง ฯลฯ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ เช่น เก้ง หมูป่า ลิง ค่าง อีเห็น เม่น กระต่าย นกมากมายหลายชนิด งูชนิดต่าง ๆ ตะกวด โดยเฉพาะสัตว์น้ำจำพวกปลามีมากหลายชนิด
:: ที่ตั้งและการเดินทาง ::
อุทยานแห่งชาติแก่งเจ็ดแควต.แก่งโสภา อ. วังทอง จ. พิษณุโลก 65220

รถยนต์
การเดินทางไปยังพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งเจ็ดแควสามารถเข้าได้หลายทาง โดยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (พิษณุโลก-อุตรดิตถ์) แยกเข้าบ้านนาขามที่อำเภอวัดโบสถ์ ระยะทางประมาณ 51 กิโลเมตร ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) แยกเข้าบ้านทรัพย์ไพรวัลย์ ระยะทาง 95 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 450 กิโลเมตร
:: แหล่งท่องเที่ยว :: ด้านธรรมชาติที่สวยงาม ::
แก่งเจ็ดแคว เป็นแนวหินอยู่ในลำน้ำแควน้อย มีสันดอนเป็นพื้นที่ป่าอยู่ตรงกลางลำน้ำ ทำให้ลำน้ำแควน้อยแยกออกเป็น 7 สาย ฤดูน้ำหลากที่กระแสน้ำไหลแรงจะมีเสียงน้ำ กระทบโขดหินดังกึกก้อง ฤดูแล้งน้ำน้อยแต่ใสจะมองเห็นแนวหินโขดหิน
แก่งลานกลอย เป็นแนวพื้นหินกว้างกวางลำน้ำแควน้อย
แก่งคันนาน้อย มีลักษณะเป็นหินสูงอยู่กลางลำน้ำแควน้อย อยู่ห่างจากแก่งเตาเหล็กประมาณ 1.5 กิโลเมตร
แก่งบัวคำ เป็นแก่งที่สวยอีกแห่งหนี่งอยู่ระหว่างป่าเขากระยางกับป่าสวนเมี่ยง บ้านแก่งบัวคำ
ทางเดินศึกษาธรรมชาติแก่งเจ็ดแคว ระยะทางประมาณ 800 เมตร มีสถานีสื่อความหมายธรรมชาติสำหรับศึกษาหาความรู้ได้ตลอดเส้นทาง จำนวน 7 แห่ง ใช้เวลาเดินศึกษาประมาณครึ่งชั่วโมง
จุดชมทิวทัศน์บ้านหนองหิน ซึ่งจะเห็นสภาพป่าของอุทยานแห่งชาติแก่งเจ็ดแคว
น้ำตก 9 ชั้น ในป่าเขากระยาง ซึ่งสวยงามมากในฤดูฝนอยู่บริเวณบ้านห้วยพลู ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
น้ำตก 5 ชั้น อยู่ห่างจากน้ำตก 9 ชั้น ประมาณ 500 เมตร สามารถทำเป็นเส้นทางเดินเท้าศึกษา ธรรมชาติได้อีกแห่ง
แก่งเตาเหล็ก เป็นลานหินกว้างอยู่กลางลำน้ำแควน้อย มีความสวยงามแตกต่างจากแก่งเจ็ดแคว โดยอยู่ห่างออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร
แก่งโจน เป็นลานหินอยู่กลางลำน้ำแควน้อย มีความสูงต่างระดับประมาณ 5 เมตร มีปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในบริเวณที่น้ำไหลแรงเป็นจำนวนมาก เช่น ปลาดัก ปลาเสาหิน ปลาลูกผึ้ง ฯลฯ สามารถมองเห็นปลาเหล่านี้กระโดดขึ้นจากน้ำเพื่อไปวางไข่บนพื้นน้ำซึ่งอยู่เหนือน้ำขึ้นไป อยู่ห่างจากแก่งคันนาน้อยประมาณ 500 เมตร
:: สิ่งอำนวยความสะดวก ::
สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์ อุทยานแห่งชาติ ยังไม่ที่พัก-บริการไว้บริการนักท่องเที่ยว มีแต่สถานที่กางเต็นท์ให้บริการนักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นอุทยานแห่งชาติจัดตั้งใหม่ หากสนใจที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติ ท่านต้องจัดเตรียมเต็นท์และอาหารไปเอง รายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่กางเต็นท์ขอให้ติดต่อสอบถามกับอุทยานแห่งชาติโดยตรง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น